เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.เมตตาวรรค 1.เมตตาสูตร
อานิสงส์ 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. หลับเป็นสุข
2. ตื่นเป็นสุข
3. ไม่ฝันร้าย
4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
6. เทวดาทั้งหลายรักษา
7. ไฟ ยาพิษ หรือศัสตรากล้ำกรายไม่ได้
8. เมื่อยังไม่แทงตลอดคุณวิเศษ1ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว พึงหวังได้
อานิสงส์ 8 ประการนี้
ผู้มีสติตั้งมั่น เจริญเมตตาแผ่ไปไม่มีประมาณ
พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ2
ย่อมมีสังโยชน์เบาบาง
หากบุคคลมีจิตไม่คิดประทุษร้ายสัตว์แม้ชีวิตเดียว
เจริญเมตตาเป็นประจำอยู่
ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉลาดเพราะการเจริญเมตตานั้น
แต่พระอริยบุคคลผู้มีใจอนุเคราะห์หมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้เป็นอันมาก
พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นกับฤาษี
ทรงชนะใจหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรม

เชิงอรรถ :
1 คุณวิเศษ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.เอกาทสก.อ. 3/15/385)
2 พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ หมายถึงบรรลุอรหัตตผลอันเป็นที่สิ้นกิเลสตามแนวทางการเจริญวิปัสสนา
ที่มีเมตตาเป็นพื้นฐาน (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/1/212, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา 3/1/250)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :194 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.เมตตาวรรค 1.เมตตาสูตร
ทรงบูชายัญ คือ สัสสเมธะ ปุริสเมธะ
สัมมาปาสะ วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ1 เสด็จเที่ยวไป
ยัญเหล่านั้น ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ 16
แห่งเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเจริญดีแล้ว
เหมือนแสงหมู่ดวงดาวไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งแสงจันทร์ ฉะนั้น
ผู้มีเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า
จะไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง2ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ3
ย่อมไม่มีเวร4กับใครๆ
เมตตาสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ยัญทั้ง 5 นี้มีความหมายตรงกันข้ามกับมหายัญ 5 ประการของพราหมณ์ โดย 4 ยัญแรก (สัสสเมธะ
ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ) หมายถึงหลักสงเคราะห์ที่ดีงามของพระราชา (ราชสังคหวัตถุ) จัดเป็น
ส่วนเหตุ ยัญที่ 5 (นิรัคคฬะ) จัดเป็นส่วนผล ยัญทั้ง 5 นั้น มีความหมายดังนี้ (1) สัสสเมธะ หมายถึง
ความฉลาดในการสงเคราะห์พสกนิกรด้วยการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร มีความหมาย
ตรงกันข้ามกับอัศวเมธะ(การฆ่าม้าบูชายัญ) ของพราหมณ์ (2) ปุริสเมธะ หมายถึงความฉลาดในการ
บำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ มีความหมายตรงกันข้ามกับปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ)
ของพราหมณ์ (3) สัมมาปาสะ หมายถึงความมีอัธยาศัยดุจบ่วงคล้องใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ
เช่น ให้คนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวไม่เก็บภาษีเป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น มีความหมายตรงกันข้ามกับสัมมาปาสะ
(การทำบ่วงแล้วขว้างไม้ลอดบ่วง ไม้ตกที่ไหนทำพิธีบูชายัญที่นั้น)ของพราหมณ์(4) วาชเปยยะ หมายถึง
ความมีปิยวาจาเป็นที่ดูดดื่มใจคน เช่น เรียกว่า ‘พ่อ’ ‘ลุง’ (5) นิรัคคฬะ หมายถึงบ้านเมืองสงบสุขปราศจาก
โจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน เป็นผลที่เกิดจาก 4 ประการแรก มีความหมายตรง
กันข้ามกับนิรัคคฬะของพราหมณ์ซึ่งหมายถึงการฆ่าครบทุกอย่างบูชายัญไม่จำกัด (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/1/213,
ขุ.อิติ.อ. 27/106-108, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา 3/1/249-252, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/39/371-372) และดู
เทียบใน สํ.ส. 15/120/91, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/39/64-66, ขุ.อิติ. 25/27/250-251, ขุ.สุ. 25/
287-318/389-393
2 ไม่ชนะเอง ในที่นี้หมายถึงไม่ทำความเสื่อมต่อผู้อื่นด้วยตนเอง (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/1/214)
3 ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ในที่นี้หมายถึงไม่ใช้ให้ผู้อื่นทำความเสื่อมต่อผู้อื่น (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/1/214)
4 ไม่มีเวร ในที่นี้หมายถึงไม่มีอกุศลเวรและบุคคลเวร (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/1/214) และดู ขุ.อิติ. 25/27/251

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :195 }